โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า อะไมลอยด์ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง

อาการ

ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีปัญหาด้านความจำเป็นหลัก จะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เป็นต้น
เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์และปัญหา
พฤติกรรม
โรคอัลไซเมอร์

การดูแลเข้าใจผู้ป่วย

  • ควรแก้ไขอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดของผู้ป่วยก่อนเพราะจะช่วยทําให้การดูแลผู้ป่วยง่ายขึ้น
  • สิ่งใดก่อให้เกิดอารมณ์หรือความไม่พอใจแก่ผู้ป่วย ควรหาสาเหตุแก้ไขหรือหลีกเลี่ยง ช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย ถ้าผู้ดูแลเข้าใจถึงจุดนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองดูแลผู้ป่วยได้ไม่ดีพอ ความเครียดก็จะไม่เกิดขึ้น
  • บางครั้งผู้ป่วยอาจแสดงอารมณ์ที่ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกผิดหวัง ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าเป็นผลมาจากอาการของโรค ไม่ใช่ผู้ป่วยไม่พึงพอใจ โกรธ หรือตั้งใจจะต่อว่าผู้ดูแล เนื่องจากก่อนป่วยผู้ป่วยมิได้มีบุคลิกภาพเช่นนั้น
  • ให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เข้าใจตนเอง

  • ควรอธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงสุขภาพที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยในขณะที่ยังสามารถรับรู้และเข้าใจได้ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงนัก เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือในการดูแลตนเอง
  • คอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า มีกิจวัตรประจำวันหลายอย่างที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกด้อยค่าหรือเป็นภาระ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกมีคุณค่า และมีความมั่นใจมากขึ้น
  • กำหนดกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

  • จดรายการกิจวัตรประจำวันหรือประจำสัปดาห์ เพื่อเตือนความจำและให้ผู้ป่วยสามารถทบทวนได้ด้วยตนเอง
  • กำหนดรูปแบบกิจวัตรให้เหมือนๆ กันทุกวัน ตรงเวลา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความสับสน อาจใช้ป้ายชื่อ เขียนชื่อติดไว้ที่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ลืมของใช้ของตัวเอง
  • จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและไม่ปรับเปลี่ยนบ่อยๆ กำหนดทางเดินระหว่างห้องพักของผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ที่ต้องใช้เป็นประจำ ไม่วางของเกะกะหรือมีสิ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมีราวจับกันลื่น จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความหวาดระแวงหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยจนเกิดภาพหลอน
  • ส่งเสริมให้ผู้ป่วย ทํากิจกรรมร่วมกับครอบครัว พาออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นครั้งคราว หรือพาไปพบปะเพื่อนฝูงของผู้ป่วยจะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือโดดเดี่ยว
  • ดูแลช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายตามสมควร เพิ่มกำลังของมัดกล้ามเนื้อ ลดข้อติด
  • กรณีที่อาการป่วยยังไม่รุนแรง อาจชวนผู้ป่วยเล่นเกมต่างๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต คิดเลข หรือชวนสวดมนต์ไหว้พระด้วยกัน หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหรือพยายามฝืนผู้ป่วยจนเกินไป เพราะจะทำผู้ป่วยเบื่อหน่ายและเกิดการต่อต้านได้
  • การสื่อสารกับผู้ป่วย

  • เวลาพูดคุยกับผู้ป่วย ให้เรียกชื่อผู้ป่วยเสมอ เพื่อความคุ้นเคย และเป็นการเตือนความจำของผู้ป่วยให้จำชื่อตนเองได้
  • พูดให้ช้าลงด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ออกเสียงให้ชัดเจน ไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดัง ควรใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่นสบตา ยิ้ม รวมถึงใช้สิ่งของประกอบการพูดเพื่อให้เข้าใจในเรื่องที่พูดง่ายขึ้น เช่น นาฬิกา ภาพถ่าย
  • คอยเล่าเรื่องในอดีตที่ผู้ป่วยคุ้นเคยตามลำดับขั้นจากอดีตมาถึงปัจจุบัน เช่น เรื่องลูก เรื่องเพื่อน สถานที่ที่ผู้ป่วยเคยไปเที่ยว หรือเรื่องงานที่ผู้ป่วยเคยทำ
  • ไม่ซักไซ้ถามคำถามที่รู้ว่าผู้ป่วยตอบไม่ได้แน่ จะทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวล กล่าวโทษตัวเองว่าเป็นคนที่บกพร่อง
  • ข้อควรระวังและการป้องกัน

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
  • ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ
  • ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Fanpage: MatsunagaTh